ข้อมูลแนะนำจังหวัดสมุทรปราการ
จังหวัดสมุทรปราการ ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทย ที่บริเวณปลายสุดของแม่น้ำเจ้าพระยา ติดชายฝั่งทางด้านเหนือของอ่าวไทย เป็นจังหวัดขนาดเล็กบริเวณชานเมืองกรุงเทพฯ มีชื่อเรียกอื่นๆ อีกว่า "เมืองปากน้ำ" และ "เมืองพระประแดง" สมุทรปราการเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สำคัญของประเทศ มีชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนทำธุรกิจเป็นจำนวนมาก จึงเป็นจังหวัดที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมหาศาลในปัจจุบัน
จังหวัดสมุทรปราการมีเนื้อที่ประมาณ 1,004 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 627,557 ไร่ จัดเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 70 ของประเทศไทย มีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายสำคัญ และมีคลองสาขาแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม แบ่งเป็น 3 บริเวณ คือ บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เหมาะแก่การทำนาและทำสวน บริเวณตอนใต้ใกล้ชายฝั่งทะเล น้ำทะเลท่วมถึง พื้นดินและแหล่งน้ำจืดเค็มจัดในฤดูแล้ง มีป่าชายเลนตามชายฝั่ง เหมาะแก่การทำป่าจาก ป่าฟืน และบริเวณที่ราบกว้างใหญ่ทางตอนเหนือและทางตะวันออก เหมาะแก่การเพาะปลูก
ปัจจุบันจังหวัดสมุทรปราการแบ่งการปกครองออกเป็น 5 อำเภอ และ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอพระประแดง อำเภอบางพลี อำเภอบางบ่อ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ และกิ่งอำเภอบางเสาธง
ประวัติความเป็นมา
สมุทรปราการเป็นเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตัวเมืองเก่าตั้งอยู่แถบอำเภอพระประแดงในปัจจุบัน เคยเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลที่สำคัญในอดีต และเป็นจุดพักของเรือสินค้าต่างชาติที่มาติดต่อค้าขายกับไทย ที่บริเวณริมทะเลมีการสร้างป้อมค่ายคูเมืองอย่างมั่นคงแข็งแรง
ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้รื้อกำแพงเมืองพระประแดงออก จนกระทั่งเมื่อถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงเห็นว่าเป็นช่องทางที่ข้าศึกจะยกทัพมาได้ จึงโปรดให้สร้างเมืองสมุทรปราการขึ้นที่ตำบลปากน้ำในปี พ.ศ. 2362 ใช้เวลาในการสร้าง 3 ปี และได้โปรดให้สร้างป้อมปราการขึ้นทั้งสองฝั่งแม่น้ำถึง 6 ป้อม คือ ป้อมประโคนชัย ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมปราการ ป้อมประกายสิทธิ์ ป้อมนาคราช และป้อมผีเสื้อสมุทร โดยในขณะที่กำลังสร้างเมืองนั้น พระองค์ได้เสด็จทอดพระเนตรหลายครั้ง และโปรดให้สร้างพระมหาเจดีย์ขึ้นที่เกาะกลางน้ำ แล้วพระราชทานนามว่า "พระสมุทรเจดีย์" แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อนที่เจดีย์จะสร้างเสร็จต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างพระสมุทรเจดีย์ต่อจนสำเร็จ และสร้างป้อมขึ้นอีก 3 แห่ง คือ ป้อมตรีเพชร ป้อมคงกระพัน และป้อมเสือซ่อนเล็บ
ในปี พ.ศ. 2402 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระสมุทรเจดีย์ให้สูงขึ้น และโปรดให้สร้างป้อมชายทะเลอีกแห่งหนึ่ง พระราชทานนามว่า "ป้อมพระจุลจอมเกล้า" ซึ่งในปัจจุบัน ป้อมต่างๆ ได้เสื่อมโทรมและปรักหักพังลงเสียเป็นส่วนใหญ่ คงเหลือแต่ป้อมผีเสื้อสมุทรและป้อมพระจุลจอมเกล้าเท่านั้น
อาณาเขต
» ทิศเหนือ : ติดต่อกับ กรุงเทพฯ» ทิศใต้ : ติดต่อกับ อ่าวไทย
» ทิศตะวันออก : ติดต่อกับ จังหวัดฉะเชิงเทรา
» ทิศตะวันตก : ติดต่อกับ จังหวัดสมุทรสาคร
ระยะทาง
ระยะทางจากจังหวัดสมุทรปราการไปยังจังหวัดใกล้เคียง | |
---|---|
กรุงเทพฯ | 46 กม. |
จังหวัดสมุทรสาคร | 85 กม |
จังหวัดฉะเชิงเทรา | 124 กม. |
ระยะทางจากอำเภอเมืองสมุทรปราการไปยังอำเภอต่างๆ | |
---|---|
อำเภอพระประแดง | 12 กม. |
อำเภอบางพลี | 17 กม. |
อำเภอพระสมุทรเจดีย์ | 21 กม. |
กิ่งอำเภอบางเสาธง | 32 กม. |
อำเภอบางบ่อ | 38 กม. |
งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ (Phra Samut Chedi Worship Festival)
จัดขึ้นช่วง : เดือนพฤศจิกายน
สถานที่ : บริเวณองค์พระสมุทรเจดีย์
งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์ เป็นงานประจำปีที่สำคัญของจังหวัดสมุทรปราการ โดยกำหนดเอาวันแรม 5 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีเป็นวันเริ่มงาน ก่อนเริ่มงานประมาณวันแรม 2 ค่ำ เดือน 11 จะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชายหญิงพร้อมใจกัน ไปช่วยเย็บผ้าแดงผืนใหญ่สำหรับห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ ก่อนวันร่วมงานจังหวัดจะทำ พิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดจน พระเทพารักษ์ ณ บริเวณองค์พระสมุทรเจดีย์ และพอถึงแรม 5 ค่ำ เดือน 11 จะมีการเชิญผ้าแดงผืนนี้ขึ้นตั้งบนบุษบก ใช้เรือยนต์เป็น พาหนะแห่ไปรอบๆ ตัวเมืองแล้วเชิญผ้าแดงแห่ไปตามลำน้ำเจ้าพระยา จนถึงอำเภอพระประแดง เพื่อให้ชาวพระประแดงร่วมอนุโมทนาแล้วจึงนำขบวนแห่กลับมาทำพิธีทักษินาวรรต รอบองค์พระสมุทรเจดีย์แล้วนำขึ้นห่มทางจังหวัดจัดงานฉลองทั้งสองฝังอำเภอ เมืองซึ่งเป็นที่ตั้งตัวจังหวัดและฝั่งอำเภอ พระสมุทรเจดีย์เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน
ประเพณีรับบัวหรือโยนบัว (Yon Bua Festival)
จัดขึ้นช่วง : เดือนพฤศจิกายน สถานที่ : บริเวณลําคลองสําโรงหน้าที่ว่าการอําเภอบางพลี และบริเวณวัด บางพลีใหญ่
เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานของชาวบางพลี จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 และช่วงเช้าตรู่ของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 จะเป็นงานประเพณีการรับบัวหรือโยนบัว โดยประชาชนจะโยนดอกบัวลงในเรือขบวนแห่พระพุทธรูปจำลองของหลวงพ่อโต ในขณะเดียวกันชาวบางพลีก็จะโยนบัวให้กับคนต่างบ้านที่พายเรือมาเที่ยวด้วย เพื่อเป็นการทำบุญร่วมกัน การจัดงานประกอบด้วยการนมัสการและขบวนแห่หลวงพ่อโต ทั้งทางบกและทางน้ำ การแข่งขันกิจกรรมพื้นบ้าน อาทิ การจัดพานดอกบัว มีการประกวดเรือประเภทต่างๆ และการแสดงการละเล่นพื้นบ้าน เช่น เพลงเรือ
งานประเพณีแข่งเรือหน้าเมืองพระประแดง (A Boat-race in front of Muang Phra Pradaeng)
จัดขึ้นช่วง : เดือนพฤศจิกายน สถานที่ : บริเวณลำน้ำเจ้าพระยาหน้าเมืองพระประแดง
ประเพณีแข่งเรือหน้าเมืองพระประแดง จัดขึ้นในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี เป็นวันแข่งเรือซึ่งเป็นประเพณีต่อเนื่องมาจากบางพลี ซึ่งจัดงานรับบัว แล้วต่อมาด้วยการแข่งเรือที่พระประแดง และปิดท้ายด้วยงานพระสมุทรเจดีย์ ซึ่งมีการแข่งขันเรือยาวเช่นเดียวกัน
งานนมัสการหลวงพ่อปาน (Luang Pho Pan Worship Fair)
จัดขึ้นช่วง : เดือนธันวาคม สถานที่ : บริเวณที่ว่าการอำเภอบางบ่อ
เป็นงานประจำปีของอำเภอบางบ่อสืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีจนกลายเป็นประเพณีสำคัญของชาวอำเภอบางบ่อและประชาชนใกล้เคียง แม้ท่านได้มรณภาพมามากกว่า 50 ปีแล้ว ที่จัดขึ้นในช่วงประมาณวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 12 เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของหลวงพ่อปาน
งานเทศกาลสงกรานต์ปากลัด (Pak Lat Songkran Fair - Phra Pradaeng)
จัดขึ้นช่วง : เดือนเมษายน ทุกๆ ปี ในวันอาทิตย์แรกหลังจากเทศกาลสงกรานต์ (13 เมษายน) ชาวเมืองพระประแดงร่วมกับอำเภอเมืองพระประแดง จัดงานประเพณีสงกรานต์ตามแบบพื้นบ้านของชาวรามัญ มีขบวนแห่นางสงกรานต์ ปล่อยนกและปล่อยปลา มีการละเล่นพื้นเมือง เช่น สะบ้า ทะแยมอญ และมอญรำ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น